วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย

เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา หมายถึง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานด้านการศึกษา อันได้แก่ การจัดเก็บข้อมูล และประมวลผลฐานข้อมูล การพัฒนาระบบสารสนเทศช่วยการเรียนการสอน การวางแผนและการบริหารการศึกษา การวางแผนหลักสูตร การแนะแนวและบริการ การทดสอบวัดผล การพัฒนาบุคลากร
       เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเป็นที่นิยมประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน อาทิ
1. ระบบสารสนเทศช่วยในการเรียนการสอน
2. การสอนทางไกลผ่านดาวเทียม
3. การประชุมทางไกลระบบจอภาพ
4. ระบบฐานข้อมูลการศึกษา
5. ระบบสารสนเทศเอกสาร
รัฐบาลไทยในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญ เล็งเห็นประโยชน์และคุณค่าของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยใน พ.ศ. 2535 ได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ" ขึ้น โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และให้มีรองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน มีคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐบาลและเอกชน และได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ มีหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งในเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างบรรยากาศ ให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการดำเนินงานด้านต่างๆ
       สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้จัดทำแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการและการดำเนินการตามแผนดังกล่าวโดยแบ่งเป็น 4 ช่วงได้แก่
ช่วงที่ 1 : การมีการใช้คอมพิวเตอร์ในงานทั่วไป (พ.ศ. 2536-2538)
ช่วงที่ 2 : การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (พ.ศ. 2536-2539)
ช่วงที่ 3 : การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (พ.ศ. 2537-2540)
ช่วงที่ 4 : การใช้คอมพิวเตอร์เต็มรูปแบบ (พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป)
       การดำเนินการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษานั้น ดำเนินการมาก่อนหน้านี้อีก คือเริ่มดันในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) ซึ่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งได้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในด้านการเรียนการสอนโดยมีหลักสูตรการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และวิชาการที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคม มีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยการบริหารงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลงทะเบียนนักศึกษา สำหรับกระทรวงศึกษาธิการนั้น ได้จัดตั้งศูนย์สารสนเทศขึ้นในปี พ.ศ. 2522 ในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
       ทางด้านทบวงมหาวิทยาลัย ได้จัดประชุมระดับภูมิภาคอาเซียน เรื่องการศึกษาและระบบสารสนเทศภายใต้โครงการพัฒนาการศึกษาอาเซียนในเดือนพฤศจิกายน 2523 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาการสารสนเทศทางการศึกษาของประเทศ
       พ.ศ. 2526  ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและปฏิบัติการของระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา (ศ.ส.ษ.) ขึ้น โดยความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อการพัฒนาระบบสารสนเทศให้ก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มีข้อมูลและสารสนเทศที่มีคุณภาพทันสมัย และสอดคล้องกับความต้องการ และเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูล และสารสนเทศทางการศึกษาที่จำเป็นต่อการกำหนดนโยบายการวางแผนการศึกษาและการพัฒนาการศึกษาของประเทศ นอกจากนั้นยังมีหน้าที่กำหนดนิยามที่จำเป็นต้องใช้ในระบบสารสนเทศทางการศึกษา กำหนดมาตรฐานในการเก็บรวบรวมข้อมูล จำแนกข้อมูลและจัดกระทำข้อมูลเพื่อให้ได้สารสนเทศ ที่สามารถนำไปใช้ได้ตามความต้องการ รวมทั้งการกำหนดขอบข่ายการประสานงานของระบบสารสนเทศทางการศึกษา ตลอดจนส่งเสริมและเผยแพร่วิชาการ และการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศทางการศึกษาของประเทศ
       ในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติ ในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 8 มีแผนงานหลักเพื่อพัฒนาการศึกษาอยู่ 9 แผนงานหลัก แผนงานหลักที่ 9 เป็นแผนเรื่องการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษา ในแผนงานหลักที่ 9 การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการ จัดการศึกษานั้นได้มีแนวคิดว่า สำหรับ
ระบบการศึกษาก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลและสารสนเทศเช่นเดียว กันโดยหน่วยงานทางการศึกษาและที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบ สารสนเทศเพื่อการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
การจัดเก็บ การให้บริการและแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย การวางแผนพัฒนาการศึกษา การบริหารการศึกษา และการจัดการศึกษาให้เป็นระบบ ที่มีรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการเรียนการสอนทุกระดับการศึกษา
       อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษาของหน่วยงานทางการศึกษาและที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะเป็นไปอย่างอิสระทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ ประกอบกับขาดความพร้อมทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อเชื่อมระบบซอฟแวร์ เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ อันได้แก่ ปัญหาการผลิตข้อมูลปฐมภูมิที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วนตามที่ผู้ต้องการใช้ ปัญหาการจัดเก็บข้อมูลทุติยภูมิ ปัญหาการประสานงานเครือข่าย รวมทั้งปัญหาการดำเนินงานสารสนเทศ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ส่งผลไปถึงการจัดการศึกษาที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน
       จากปัญหาข้างต้น จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา โดยมีพื้นฐานอยู่บนหลักการพัฒนาร่วมกันระหว่างหน่วยงานทางการศึกษาและที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถประสานการดำเนินงาน และการนำทรัพยากรมาใช้ในการบริหารการวางแผนการจัดการศึกษา และการฝึกอบรมร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเป็นหน่วยประสานงานกลาง ในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา
รูปแบบของการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
ได้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
1.    การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่มีแน่นอนในจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของ การศึกษา การวัดและประเมินผล รวมทั้งมีการกำหนดเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
2.    การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยึดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลและประเมินผล รวมทั้งเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
3.    การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาสโดยสามารถศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่นๆ
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษาในระบบนอกระบบและตามอัธยาศัย
UNESCO ได้กำหนดองค์ประกอบในการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการศึกษาไว้ 5 ด้านคือ
1) การกำหนดนโยบาย เพื่อสนับสนุนสภาพแวดล้อมของระบบและบูรณาการในการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการศึกษา
2) สร้างการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เหมาะสมทั้งในรูปแบบและนอกระบบ
3) ศึกษาการสนับสนุนครูให้หาทางเลือกใหม่ในการเรียนการสอน
4) พัฒนาตัวชี้วัดเพื่อพิจารณาผลการใช้เทคโนโลยีในการศึกษา
5) ใช้ผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับความต้องการบริบทการศึกษา
ในส่วนของรูปแบบการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร   ในการเรียนการสอน  เช่น การเรียนการสอนทางไกล (Distance Education) เป็นการเรียนการสอนที่ประยุกต์เทคโนโลยีหลายๆอย่าง เช่น ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การประชุมทางไกลชนิดภาพและเสียง รวมถึงเอกสารต่างๆเพื่อเข้าถึงผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล  แบบมหาวิทยาลัยออนไลน์ เรียกว่า Online University หรือ Virtual University
ในประเทศไทยได้มีการจัดทำโครงการ   Thailand cyber University (TCU) ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จะเป็นสรรพวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์รวมของสรรพวิทยาการ) ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ครอบคลุมการศึกษาในทุกระบบ ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน
(Formal Education) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (In-Formal Education) ที่ประชาชนทุกคน สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้   มีระบบการเทียบโอนความรู้จากการศึกษาในแต่ละระบบ เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการศึกษาจากระบบหนึ่ง สามารถจะเทียบโอนความรู้ เข้าสู่การศึกษาในอีกระบบหนึ่งได้ ตามเงื่อนไขและข้อกำหนด ซึ่งจะเป็นการบูรณาการ การศึกษาทุกระบบเข้าด้วยกัน เกิดเป็นระบบการศึกษาที่รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน มีความยืดหยุ่น ต่อเนื่อง และเสริมกัน มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับตามหลักมาตรฐาน      มีหลักสูตร ออนไลน์(online) ที่ผู้เรียนสามารถเรียนจนจบได้รับปริญญาบัตร เป็นระบบการเรียนการสอนที่อยู่บนเครือข่าย ในรูปเว็บเพจ มีการสร้างกระดานถาม-ตอบ อิเล็กทรอนิกส์ (Web Board)  การเรียนการสอนผ่านทางอินเทอร์เน็ตและเว็บเพจ (Online Learning, Internet Web Base Education) เป็นการนำเสนอเนื้อหาและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนโดยเน้นสื่อประสมหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน มีการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ประสานงานกัน ให้ผู้เรียนและผู้สอนเข้าถึงฐานข้อมูลหลายชนิดได้ โดยผู้เรียนต้องควบคุมจังหวะการเรียนรู้ด้วยตนเองให้เป็น และเลือกเวลา สถานที่ในการเรียนรู้ สร้างความหลากหลายในการเรียนรู้ของผู้เรียน
บทบาทสำคัญและประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย
                1.   เทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องการเรียนรู้ปัจจุบันมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้หลายอย่าง มีระบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) มีระบบมัลติมีเดีย (Multimedia)* ระบบวิดีโอออนดีมานด์ (Video on Demand) วิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ (Video Teleconference) และอินเตอร์เน็ต (Internet) เป็นต้น ระบบเหล่านี้เป็นระบบสนับสนุนการรับรู้ข่าวสารและการค้นหาข้อมูลข่าวสารเพื่อการเรียนรู้
                2.   เทคโนโลยีที่เข้ามาสนับสนุนการจัดการศึกษาในการจัดการศึกษาสมัยใหม่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารเพื่อการวางแผนการดำเนินการ การติดตามและประเมินผลคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารโทรคมนาคมเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในเรื่องนี้
                3.   เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้การสื่อสารระหว่างบุคคลเกือบทุกวงการ ทั้งทางด้านการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารระหว่างผู้สอนกับผู้เขียน ผู้เรียนกับผู้เรียน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการเรียนการสอน และการดำเนินงานในหลายด้านโดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสาร และการดำเนินงานในหลาย
ด้านโดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างบุคคล เช่น การใช้โทรศัพท์ โทรสาร เทเลคอนเฟอเรนส์ และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
4.   เทคโนโลยีช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัยโดยการประสานกับชุมชนและท้องถิ่นในการพัฒนาการเรียนการสอนตามอัธยาศัยเน้นการค้นคว้าและทักษะการสืบค้นสารสนเทศ ให้ผู้เรียนใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการสื่อสารข้อมูลทางไกลผ่านระบบเครือข่ายได้ รวมทั้งประเมินผลจากการนำมาใช้มากกว่าการจดจำเนื้อหา
5. การจัดระบบเครือข่ายการเรียนรู้ที่ให้มีแหล่งความรู้ที่หลากหลาย สำหรับการค้นคว้าหาความรู้ทุก ๆ ด้านที่ผู้เรียนต้องการและเหมาะสมกับผู้เรียน เช่น สื่อมวลชนทุกแขนงเครือข่ายสารสนเทศ ทรัพยากรท้องถิ่น ชุมชน ภูมิปัญญาชาวบ้านและหน่วยงานต่าง ๆ จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้พัฒนาตนเอง และพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างกว้างขวาง
ที่กล่าวมาเป็นแนวความคิดในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยพัฒนาการศึกษาตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย ข้อจำกัดในด้านสถานที่ เวลา และด้านอื่นๆ จะไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้อีกต่อไป โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือ ปัจจุบันการศึกษาก้าวเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยี การจัดการเรียนการสอนเช่น รูป e-learning   ห้องสมุดอิเลกทรอนิกส์  การเรียนทางเว็บ  การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นต้น ซึ่งต้องสนองตอบการศึกษาได้ทุกรูปแบบทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย ตลอดจนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยไม่จำกัดเวลาและเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตซึ่งนำไปสู่สังคมแห่งคุณธรรมและสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด         
แหล่งอ้างอิง
“แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2550-2554” , 2550.
 “พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..2542,”   ราชกิจจานุเบกษา.    เล่ม 116.   ตอนที่ 74 .หน้าที่
1-77.   สิงหาคม,  2542.
ประวัติความเป็นมา TCU”.< http://lms.thaicyberu.go.th/OfficialTCU/main/main2.asp>.  20-09-2551.
<http://doc.obec.go.th/showdoc49/school/spt_te1.php> 14-09-2551.
“ICT in Education Themes”. <http://www.unescobkk.org/index.php?id=1366>
http://www.google.co.th

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วิเคราะห์ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 หมวด 9 เทคโนโลยีการศึกษา

                          พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ     หมวด     เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

มาตรา ๖๓
          รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม และการสื่อสารในรูปอื่น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรมตามความจำเป็น
วิเคราะห์
ที่ผ่านมา เรามีการใช้คลื่นความถี่ และสื่อตัวนำต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในงานการศึกษากันอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อการศึกษา โทรทัศน์เพื่อการศึกษา แต่ทว่ามันยังไม่ค่อยจะเป็นระบบระเบียบเท่าที่ควร เพราะผู้ที่จะเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ได้จะต้องมีทุนพอสมควรที่จะประมูลได้ ต่อไปนี้จะมีการจัดสรรให้เท่าเทียมกัน และเมื่อกำหนดไว้ใน พรบ.การศึกษา เช่นนี้แล้วก็นาจะเป็นผลดียิ่งขึ้นที่จะทำให้หน่วยงานองค์กรต่างๆ โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน และจะเป็นประโยชน์ต่อการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม แต่ทว่าในขณะนี้ การคัดเลือกผู้บริหารคลื่นความถี่ (กทช) คณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่แห่งชาติ ยังไม่มีความโปร่งใสกันเลย ยังเล่นพรรคเล่นพวก โดยไม่ได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเลย เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษา มิใช่กอบโกย
มาตรา ๖๔
         รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิต และพัฒนาแบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อสิ่งพิมพ์อื่นวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่นโดยเร่งรัดพัฒนาขีดความ สามารถในการผลิตจัดให้มีเงินสนับสนุนการผลิตและมีการให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาทั้งนี้โดยเปิด ให้ มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
 
วิเคราะห์
พรบ.กำหนดไว้ให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆซึ่งจะเป็นผลดีต่อการศึกษาของประเทศไทย ที่มีแรงสนับสนุนที่ดีเยี่ยม แต่การสนับสนุนของรัฐจะเป็นไปด้วยดีก็ต่อเมื่อรัฐ มีความพร้อม และมีความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในขณะนี้ประเทศไทยยังเป็นหนี้ ยังต้องกู้ยืมเงินมีใช้หนี้ แล้วเงินที่จะนำมาสนับสนุน มาเป็นทุนในการวิจัยและการพัฒนาต่างๆก็ต้องยืมเขามาทั้งนั้นฉะนั้นแล้วจะต้องอาศัยมาตรา65มาประกอบกันมาตรา ๖๕
         ให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิต และผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการผลิต รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
วิเคราะห์              เพื่อประสิทธิภาพที่เต็มพิกัด เราจะต้องพัฒนาบุคลากรของเรา ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต และผู้บริโภค ให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อที่จะได้ไม่ล้าสมัยเป็นการศึกษายุคไดโนเสาร์ ถึงแม้ไม่หวังจะให้ล้ำหน้าอารยประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว ก็ขออย่าให้กินฝุ่นก็พอแล้ว เพื่ออนาคตของเด็กไทย
มาตรา ๖๖
         เด็กไทยมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโอกาสแรกที่ทำได้เพื่อให้มีทักษะเพียงพอที่จะ ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
วิเคราะห์
รัฐได้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอย่างเต็มที่ เมื่อโอกาสได้อำนวย แต่ในมาตรานี้ก็ไม่ได้ระบุออกมาชัดเจนว่าเป็นเทคโนโลยี อะไรบ้าง ถ้าระบุด้วยว่าเป็นเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตก็น่าจะดีกว่านี้ โดยให้มีทักษะที่เพียงพอในการศึกษาด้วยตนเอง และกับการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งเมื่อเราติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็กไทยได้ ก็เท่ากับอนาคตใหม่ของชาติไทยต้องสดใสแน่นอนเพราะเราต้องให้เขาได้บริหารบ้านเมืองต่อไป
มาตรา ๖๗
         รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพื่อให้เกิดการใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย
วิเคราะห์
เป็นการประกันคุณภาพ ขององค์กร จึงต้องมีการตรวจสอบได้ ด้วยความโปร่งใส เพราะสร้างคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงามให้เกิดขึ้นจงได้แก่ผู้ที่มีอำนาจบริหารบ้านเมืองให้ผู้ที่มีความพร้อมจะต้องช่วยเหลือผู้ที่ยังด้อยโอกาสอยู่ เพื่อความสงบสุขเรียบร้อยของบ้านเมือง ในอดีตที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่ยังถือคติที่ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก กินกันเป็นลูกโซ่ กินต่อกันเป็นทอดๆ จึงเกิดปัญหาการคอรัปชั่นขึ้น และไม่เป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย
มาตรา ๖๘           ให้มีการระดมทุน เพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จากเงินอุดหนุนของรัฐ ค่าสัมปทานและผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรประชาชนรวมทั้งให้มีการลดอัตราค่าบริการเป็นพิเศษในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อการพัฒนาคนและสังคม หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการผลิตการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้เป็นไปตามที่กำหนด ในกฎกระทรวง
วิเคราะห์
                เป็นมาตราที่สำคัญที่สุดเพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องอาศัยปัจจัยในการผลิตที่สำคัญที่สุดก็คือ เงิน รัฐกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา แล้วกองทุนนี้บริหารและจัดการตัวเองได้เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดเพราะรัฐจะได้ไม่ต้องมารับภาระด้านการกัดการกองทุนและเทคโนโลยีที่น่าสนใจในขณะนี้คือระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ถ้าให้กองทุนที่ว่ามามาพัฒนาและบริหารระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ก็จะหมายถึงรายได้ ที่หลั่งไหลเข้ากองทุนที่มีอย่างมหาศาล อนาคตการศึกษาของเด็กไทยจะต้องรุ่งเรือง ด้วยเหตุที่อินเทอร์เน็ตนี้ เป็นเทคโนโลยีที่สะดวกสบาย และมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคโลกไร้พรมแดนเป็นอย่างยิ่ง
มาตรา ๖๙
                            รัฐต้องจัดให้มีหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผน ส่งเสริมและประสานการวิจัย การพัฒนาและการใช้ รวมทั้งการประเมินคุณภาพ และประสิทธิภาพของการผลิตและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
วิเคราะห์
                 เป็นมาตราแห่งความรอบคอบ ที่จะต้องกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในนโยบาย และแผนงาน รวมทั้งการประสานงาน การประเมินคุณภาพต่างๆ ซึ่งก็เพื่อประสิทธิภาพแห่งเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา   
สรุป
                 จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542  ในหมวด    เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ฉบับนี้ ได้มีการกำหนดเอาไว้ได้ครอบคลุมพอสมควร โดยให้มีกองทุน เพื่อการสนับสนุน การวิจัย การพัฒนา และการผลิตต่างๆ ที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งมีการพัฒนา ผู้ผลิต และผู้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวด้วย ให้มีทักษะอย่างเพียงพอที่จะบริโภคได้อย่างชาญฉลาด และคุ้มค่าที่สุด กับการศึกษาประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อความรัดกุมยิ่งขึ้นในการปฏิบัติงาน ยังได้กำหนดให้มีการตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส เพื่อกำจัด   พวกที่คอยแต่จะโกงกินและ คอรัปชั่นบ้านเมือง ด้วยความหวังที่ประเทศไทยจะมีอนาคตใหม่ที่สดใสด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 
เอกสารอ้างอิง

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 16 ตอนที่ 74 .( 19 สิงหาคม 2542)